Last updated: 16 พ.ย. 2567 | 8120 จำนวนผู้เข้าชม |
วิธีเลือกขนาดท่อน้ำประปา (สำหรับต่อกับปั๊มน้ำ ภายในบ้าน)
วิธีเลือกขนาดท่อน้ำประปา
ขนาดของท่อน้ำประปาถ้ามองผิวเผินเหมือนกับไม่มีความสำคัญอะไรนัก แต่หากท่านลองอ่านบทความต่อไปนี้ ท่านก็จะเห็นความสำคัญเรื่องท่อน้ำไม่น้อยไปกว่าขนาดปั๊มน้ำที่ท่านเลือกใช้
ท่านทราบหรือไม่ว่า หากบ้านท่านเดินท่อน้ำประปาผิดขนาด คือมีขนาดที่เล็กกว่าที่ควรใช้ ท่านอาจต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกปีละหลายพันบาทโดยไม่รู้ตัว (และต้องจ่ายสะสมไปเรื่อยๆอย่างไม่มีกำหนดวันหยุดจ่ายด้วยนะ มากกว่าการซื้อสินค้าเงินผ่อนที่คิดดอกเบี้ยมหาโหดเสียอีก) หรือหากใช้ท่อขนาดที่ใหญ่เกินไป ก็สิ้นเปลืองเงินค่าท่อโดยไม่จำเป็นและยุ่งยากในการเดินท่อมาก
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ข้าวของอะไรๆก็ขึ้นราคา แพงไปหมดทุกอย่าง (รวมถึงค่าไฟฟ้าด้วย) เรายิ่งต้องพิถีพิถันในการใช้จ่ายและเข้าใจในสิ่งที่เราจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินออกไป ให้มันต้องเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและไม่กลับมาสร้างภาระให้เราด้วย
ดังนั้น การกำหนดขนาดท่อน้ำที่ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการใช้น้ำภายในบ้านของท่านจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกขนาดปั๊มน้ำ (ดังที่เคยเสนอบทความมาก่อนหน้านี้ในชื่อเรื่อง “วิธีเลือกซื้อปั๊มน้ำแบบง่ายๆ”) เพราะว่าเมื่อท่านเดินท่อน้ำเข้าไปในบ้านแล้ว มันเป็นการยากมากที่จะถอดออกมาเปลี่ยนใหม่ เนื่องจากท่อส่วนใหญ่จะถูกฝังอยู่ในผนังที่โบกปูนทับ พร้อมปูทับด้วยกระเบื้องอันสวยงาม (ต้องทุบออกมาเปลี่ยนใหม่เท่านั้น ลองคิดดูว่ามันจะปวดหัววุ่นวายเรื่องใหญ่ขนาดไหน)
เปรียบเทียบท่อกับถนน
ทีนี้เรามาดูว่าขนาดท่อที่พูดถึงนี้มันสำคัญอย่างไร ผมอยากจะเปรียบเทียบให้ท่านเข้าใจง่ายขึ้น โดยสมมุติว่าท่อน้ำประปาที่ถูกเดินไว้ในบ้านท่านก็คล้ายกับถนนหลายๆสายที่มีอยู่ในเมืองๆหนึ่ง
ถ้าท่อน้ำที่เดินไว้ภายในบ้านท่านเป็นท่อขนาดใหญ่ทั้งหมด ก็เปรียบเสมือนในเมืองนั้นมีแต่ถนนขนาดใหญ่ ซึ่งก็คงไม่มีเมืองใดที่จะสร้างแต่ถนนขนาดใหญ่ทั้งเมืองโดยไม่มีถนนเล็ก เพราะมันจะสิ้นเปลืองเงินมหาศาลและยุ่งยากมาก
แต่ถ้าบ้านท่านเดินท่อส่วนใหญ่เป็นท่อขนาดเล็กเพียง ½” (ซึ่งบ้านสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะเลือกใช้ท่อขนาดเล็กแบบนี้ เพราะง่ายในการฝังท่อเข้าผนังและลดต้นทุนได้มาก) ก็เสมือนเมืองนี้มีแต่ถนนซอยเล็กซอยน้อย รถราจะวิ่งได้ไม่สะดวกและรถมันก็จะติดอุตลุดไปทั่วเมืองทั้งวัน ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ถึงแม้บ้านท่านจะติดปั๊มช่วยเสริมแรงดัน (ที่ติดแถมมาให้ตอนที่ซื้อบ้าน หรือท่านซื้อเอง) ก็ไม่ได้ช่วยทำให้น้ำแรงหรือมากได้ดั่งใจ
หนักข้อขึ้นไปอีก ที่บางท่านอุตส่าห์ซื้อบ้านหรือสร้างบ้านราคาแพง โดยหวังว่าจะได้ใช้ห้องน้ำของตัวเองที่มีน้ำไหลแรงสะใจ ติดตั้งอุปกรณ์สุขภัณฑ์ทันสมัยราคาแพง กลับใช้ไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ กลายเป็นแค่ของประดับห้องน้ำ ก็คิดไปว่าปั๊มที่เขาติดตั้งมาให้กับบ้านคงขนาดเล็กไปจึงไปซื้อปั๊มน้ำที่ขนาดใหญ่ขึ้นแรงขึ้นมาเปลี่ยน ปรากฏว่าน้ำแรงขึ้นอีกนิดหน่อยแต่ก็ยังไม่สะใจและไม่คุ้มกับเงินที่จ่าย สุดท้ายด้วยความแรงเกินไปของปั๊มน้ำกลับทำให้ท่อต่างๆปริแตก น้ำท่วมบ้านเสียหายเลยเถิดไปกันใหญ่
ถ้าท่านได้อ่านบทความเรื่อง “วิธีเลือกซื้อปั๊มน้ำแบบง่ายๆ” ในเว็บนี้ท่านก็จะทราบวิธีเลือกปั๊มที่เหมาะกับบ้านท่าน แต่หากบ้านท่านมีท่อน้ำที่ไม่รองรับกับขนาดปั๊มน้ำ ปั๊มที่ใช้ก็ไม่สามารถจ่ายน้ำได้ตามสเปก นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่ท่านต้องการใช้น้ำ ปั๊มน้ำจะต้องหมุนนานขึ้นหรือต้องสตาร์ทบ่อยขึ้น ซึ่งการสตาร์ทของมอเตอร์ปั๊มทั่วไปในแต่ละครั้งจะต้องใช้กระแสไฟฟ้ามากกว่าขณะที่ปั๊มเดินปกติประมาณ 3 เท่า เท่ากับว่าในแต่ละวัน แต่ละเดือน หรือแต่ละปีที่ท่านเปิดน้ำผ่านปั๊ม ท่านจะเสียค่าไฟฟ้าส่วนที่เกินความจำเป็นนี้คิดเป็นตัวเงินออกมาเยอะมาก
ดังนั้น ที่ดีที่สุดถ้าเปรียบเทียบท่อกับถนนดังกล่าวข้างต้น ต้องมีการวางแผนสร้างทั้งถนนใหญ่ ถนนขนาดกลาง รวมถึงถนนซอยต่างๆให้สมดุลกัน โดยมีเป้าหมายให้รถทั้งหลายวิ่งไปในช่วงเวลาเร่งด่วนได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งการเดินท่อน้ำในบ้านหรืออาคารหลังใดหลังหนึ่งก็ใช้หลักการอันเดียวกันนี้ เพื่อให้ท่านได้ปริมาณน้ำที่ท่านต้องการใช้ทุกจุดพร้อมกัน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ด้วยความแรงและปริมาณน้ำที่พอเพียงโดยมอเตอร์ปั๊มไม่ควรถูกสตาร์ทบ่อยหรือวิ่งยาวนานเกินความจำเป็น ส่วนจุดงอหรือจุดแยกของท่อก็เปรียบเสมือนทางแยกทางหักศอกของถนนที่รถทุกคันต้องชะลอความเร็วลงเมื่อวิ่งมาถึงบริเวณนี้ ซึ่งน้ำก็มีอาการต้องชะลอความเร็วแบบเดียวกันเมื่อไหลอยู่ในท่อที่งอหรือท่อแยก (ทำให้แรงดันและปริมาณน้ำลดลง) สิ่งต่างๆเหล่านนี้ก็จะต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน
สมมุติว่าบ้าน 2 ชั้นของท่าน เมื่อคำนวณความต้องการใช้น้ำรวมทุกจุดแล้วคือ 105 ลิตร/นาที (โดยต้องมีแรงดันน้ำที่ 3 บาร์ ณ การใช้น้ำในปริมาณ 105 ลิตรนี้ด้วย) จากตารางข้างบนนี้ ท่านควรจะออกแบบใช้ ท่อเมน (ที่ต่อจากปั๊มขึ้นไปถึงชั้น 2 ของบ้านท่าน) ขนาด 1 ½” (ตามร้านทั่วไปเรียกว่า “นิ้วครึ่ง”) หรืออย่างน้อยควรเป็นขนาด 1 1/4” (ตามร้านทั่วไปเรียกว่า “นิ้วสองหุน”) เพราะว่าจากตารางด้านบน จะเห็นว่า ท่อขนาด 1 ½" น้ำสามารถไหลผ่านได้ไม่เกิน 200 ลิตร/นาที ส่วนท่อขนาด 1 1/4" น้ำสามารถไหลผ่านได้ ไม่เกิน 100 ลิตร/นาที เป็นการเลือกแบบง่ายๆโดยยังไม่ได้คิดค่าความฝืดที่เกิดจากตัวท่อและข้อต่อต่างๆ
จากนั้นก็มาพิจารณาแยกความต้องการใช้น้ำรวมของแต่ละชั้น เช่น สมมุติว่าชั้นล่างต้องการใช้น้ำรวมทุกจุด 60 ลิตร/นาที และชั้นบนรวมทุกจุด 55 ลิตร/นาที ท่านควรเลือกใช้ ท่อแยก ต่อจากท่อเมนที่เดินมาจากปั๊ม ของแต่ะชั้นเป็นขนาดขนาด 1” (จากตารางด้านบน ท่อ 1" น้ำสามารถไหลผ่านได้ไม่เกิน 66 ลิตร/นาที) ซึ่งท่อแยก 1” ที่จะต่อเข้าชั้นล่างและชั้นบนนี้ก็จะถูกฝังอยู่ในผนังบ้านในจุดที่ท่านต้องการใช้น้ำทั่วไปนั่นเอง
หลายท่านคงเริ่มสงสัยว่าอุปกรณ์ใช้น้ำต่างๆที่วางจำหน่ายอยู่ล้วนเป็นขนาดเกลียวแค่ ½” (ตามร้านทั่วไปเรียกว่า “สี่หุน”) เท่านั้น แล้วจะใช้ได้อย่างไร.... เรื่องนี้ง่ายนิดเดียว ให้ออกแบบใส่ข้อลดจากท่อ 1” ลงเป็น ½” ทุกจุดที่ต้องการต่อน้ำออกมาใช้ ด้วยวิธีการออกแบบท่อน้ำแบบนี้ควบคู่ไปกับการเลือกซื้อปั๊มที่ถูกต้อง (ดูบทความเรื่อง “วิธีเลือกซื้อปั๊มน้ำแบบง่ายๆ”) ท่านก็จะมั่นใจได้ว่าท่านจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอทุกจุดในบ้านท่านแม้จะเปิดน้ำใช้พร้อมกันทั้งหมด โดยข้อดีที่ท่านจะได้รับนั้นมีมากมาย เช่น
1. จ่ายค่าไฟฟ้าตามขนาดปั๊มน้ำที่ท่านใช้จริง มอเตอร์ปั๊มไม่ต้องสตาร์ทบ่อยเกินไป และช่วยลดโลกร้อนทางอ้อมด้วย
2. ได้ใช้น้ำตามแรงดันและปริมาณน้ำตรงตามที่ตัวปั๊มสามารถทำงานได้จริง
3. หากท่านเลือกใช้ปั๊มที่ควบคุมการสตาร์ทของมอเตอร์ด้วยตู้ควบคุมแบบอินเวอร์เตอร์ (Invertor Control Box) ยิ่งทำให้ท่านประหยัดมากขึ้น เพราะการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า 3 เท่าขณะที่มอเตอร์ปั๊มน้ำสตาร์ทออกตัวหมุนจะไม่เกิดขึ้น
4. ลดการสูญเสียเวลารอคอยน้ำที่ไหลช้า ทุกจุดที่ใช้น้ำในบ้านจะไม่มีการแย่งน้ำกัน เช่น บางบ้านเมื่อเปิดใช้น้ำชั้นล่าง ชั้นบนน้ำจะยิ่งอ่อนลงหรือแทบจะไม่ไหล ยิ่งในขณะที่ท่านกำลังอาบน้ำอยู่ชั้นบน มันจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจอย่างมาก
5. ท่านจะได้รับความสุขใจกับบ้านของท่านมากยิ่งขึ้น
6. หมดความเสี่ยงที่จะต้องทุบกำแพงห้องน้ำเพื่อเปลี่ยนท่อให้ใหญ่ขึ้นตามแบบที่คำนวณไว้(ยกเว้นในกรณีท่อที่ฝังในกำแพงมีการรั่วซึมหรือแตกร้าว จากคุณภาพที่ต่ำของท่อ หรือเนื่องจากท่านเอาปั๊มที่มีแรงดันสูงเกินไปมาติดตั้ง)
ข้อสรุปที่สำคัญที่สุดคือ ควรหลีกเลี่ยงการเดินท่อที่มีขนาดเล็กเกินไป เพราะเงินค่าท่อขนาดเล็กที่ท่านประหยัดได้ในที่สุดแล้วจะถูกแปลงไปเป็นค่าไฟฟ้า ค่าเสียความรู้สึก ค่าทุบผนังห้องน้ำ และอื่นๆอีกหลายอย่างซึ่งแพงกว่าค่าท่อขนาดที่เหมาะสมหลายเท่ามาก
เราสามารถนำวิธีการออกแบบขนาดท่อน้ำนี้ไปใช้กับท่อน้ำที่ใช้เดินในอาคารชนิดอื่นๆได้ทั้งหมด โดยคำนวณค่าความเสียดทาน (ความฝืด) ของน้ำที่ถูกชะลอให้ไหลช้าลงจากข้องอ ทางแยกของท่อ รวมถึงข้อลด และตัวท่อน้ำเอง ทุกจุด ที่เดินอยู่ในระบบท่อน้ำของแต่ละอาคารและยังนำไปออกแบบขนาดท่อระบบส่งน้ำที่ใช้ในภาคเกษตรและปศุสัตว์ได้ด้วย
18 พ.ย. 2563
18 พ.ย. 2563